สืบสานประเพณีหนึ่งเดียวในโลก 'มาฆบูชา แห่ผ้าขึ้นพระธาตุ' ที่เมืองนครกวนข้าวมธุปายาสถวายเป็นพุทธบูชา-รำลึกถึงพระพุทธองค์ จาตุรงคสันนิบาต
นครศรีธรรมราช เป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่สำคัญและยิ่งใหญ่มาแต่ในอดีต เป็นเมืองศูนย์กลางความเจริญในทุกๆ ด้านของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็น เมืองศูนย์กลางอาณาจักรศรีวิชัย ในอดีตเมืองนครศรีธรรมราชมีเมืองบริวารมากถึง 12 เมือง จึงมีการเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เมือง 12 นักษัตร
โดยเฉพาะยังเป็นเมืองศูนย์กลางการศาสนา มีพระบรมธาตุเจดีย์วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นเป็นสง่า เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองและถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนทั่วไปมายาวนานนับพันปี ดังนั้นนครศรีธรรมราชจึงมีประเพณีที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ประเพณีชักพระออกพรรษา ทำบุญให้ทานไฟ มาฆบูชา แห่ผ้าขึ้นธาตุ งานเทศกาลบุญสารทเดือนสิบ เป็นต้น โดยเฉพาะประเพณี มาฆบูชา แห่ผ้าขึ้นธาตุ เป็นประเพณีที่เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองนครศรีธรรมราช
การจัดประเพณี แห่ผ้าขึ้นธาตุ เป็นประเพณีที่เป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองนครศรีธรรมราช เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราชประเพณีหนึ่งทั้งนี้เพราะประเพณีนี้ไม่มีปฏิบัติกันที่ใดในประเทศไทยและในโลกนอกจากเมืองนครเท่านั้น แต่เดิมจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 หรือ วันมาฆบูชา และในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 หรือวัน วิสาขบูชา แต่ในระยะหลัง ๆ ประชาชนชาวพุทธจากทั่วสารทิศจะนิยมมาร่วมแห่ผ้าขึ้นธาตุในวันมาฆบูชามากกว่าในวันวิสาขบูชา ทางจังหวัดจึงหันมาเน้นการจัดงานประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุในวันมาฆบูชาเป็นหลัก และเรียกว่าประเพณี มาฆบูชา แห่ผ้าขึ้นธาตุ มาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามในวันวิสาขบูชาก็ยังมีการนำผ้าพระบฏขึ้นไปโอบห่มองค์พระบรมธาตุอยู่เช่นกัน
ประเพณี มาฆบูชา แห่ผ้าขึ้นธาตุ ของชาวนครศรีธรรมราชจึงเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนาน โดยประเพณีมาฆบูชา แห่ผ้าขึ้นธาตุ ตรงกับวันเพ็ญเดือน 3 หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ในปีนี้ตรงกับวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งประชาชนชาวพุทธจะเริ่มหลั่งไหล เดินทางมาพร้อมกันตั้งแต่วันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 3 ใน ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 7 กุมภาพันธ์ เพื่อร่วมกิจกรรมกวน ข้าวมธุปายาส ซึ่งเชื่อเป็นข้าวทิพย์หรืออาหารวิเศษที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวพุทธประวัติขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าอีกเช่นกัน ในวันประกอบแห่ผ้าขึ้นธาตุจะมีประชาชนชาวพุทธทั้งในและต่างจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งชาวต่างชาติที่นับถือศาสนาพุทธมาร่วมกิจกรรมมืดฟ้ามัวดิน โดยมารวมตัวกันบริเวณสนามหน้าเมืองและศาลาประดู่หกเพื่อร่วมในพิธีเปิดประเพณีมาฆบูชา แห่ผ้าขึ้นธาตุ หลังเสร็จพิธีเปิดขบวนก็จะเคลื่อนไปตามถนนราชดำเนิน นำขบวนโดยวงดุริยางค์ ตามด้วยขบวนแห่ผ้าพระบฏพระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และขบวนแห่ผ้าพระบฏจากกลุ่มพลังมวลชนต่าง ๆ มุ่งหน้าสู่พระบรมธาตุเจดีย์วัดพระมหาธาตุวร มหาวิหารขบวนยาวหลายกิโลเมตรเพื่อนำผ้าพระบฏเข้าสู่พิธีกรรมถวายผ้าพระบฏและให้ตัวแทนนำผ้าพระบฏทั้งหมดขึ้นไปโอบห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ต่อไป สำหรับพระบรมธาตุเจดีย์ยอดทองคำจังหวัดนครศรีธรรมราช นั้นเชื่อว่าภายในองค์พระบรมธาตุเจดีย์มีพระบรมสารีริกธาตุโดยเฉพาะพระทันตธาตุของพระพุทธเจ้า(พระเขี้ยวแก้วเบื้องซ้าย)ประดิษฐานอยู่
ส่วนประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุตามตำนานระบุว่าในราว พ.ศ. 1773 ในขณะที่ พระเจ้าศรีธรรมโศกราช และชาวเมืองนครศรีธรรมราช กำลังจัดเตรียมงานสมโภชองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ปรากฏว่ามีชาวเมืองอินทรปัตย์ในเขมร จำนวนประมาณ 100 คนจะนำไปบูชาพระเขี้ยวแก้วในศรีลังกาโดยเดินทางด้วยเรือสำเภาเพื่อนำผ้าพระบฏซึ่งเป็นผ้าที่มีลายเขียนเกี่ยวกับพุทธประวัติ มุ่งหน้าไปบูชาพระพุทธเจ้าที่เมืองลังกา แต่เรือสำเภาเกิดถูกพายุจนอับปางกลางทะเล ผ้าพระบฏและชาวอินทรปัตย์รอดชีวิตประมาณ 10 คนถูกคลื่นซัดมาเกยตื้นที่ชายหาด อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ชาว อ.ปากพนัง จึงนำผ้าพระบฏมาถวายพระเจ้าศรีธรรมโศกราช หลังจากนั้นจึงมีมติร่วมกันว่าในการสมโภชพระบรมธาตุจะมีการนำเอาผ้าพระบฏขึ้นไปโอบห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ในวันเพ็ญเดือน 3 หรือวันมาฆบูชา โดยวันนี้เกิดปรากฏการณ์สำคัญทางพุทธศาสนาขึ้นคือเป็นวันที่พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป เดินทางมาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ซึ่งพระสงฆ์เหล่านั้นล้วนแต่เป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นพระอรหันต์ผู้ได้บรรลุอภิญญา 6 โดยพระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมโอวาทปาฎิโมกข์ให้กับพระสงฆ์ที่มาประชุมได้สดับ ดังนั้นวันมาฆบูชาจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วันจาตุรงคสันนิบาต โดยมติดังกล่าวชาวอินทรปัตย์ก็เห็นดีเห็นงามด้วย ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุจึงเกิดขึ้นและยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
โดยการจัดกิจกรรม มาฆบูชา แห่ผ้าขึ้นธาตุในปี 2552 มุ่งเน้นการส่งเสริมประเพณีดั้งเดิมและเป็นการรื้อฟื้นกิจกรรมบางอย่างที่ขาดหายไปกลับมา เพื่อสร้างเอกลักษณ์และเรียกอดีตความยิ่งใหญ่ของเมือง 12 นักษัตรกลับคืนมาและยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดด้วย โดยมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องมากมาย เช่น ในคืนวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ประกอบพิธีกวนข้าวมธุปายาส ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พิธีสมโภชผ้าพระบฏใน อ.ปากพนัง สถานที่เดิมที่พบผ้าพระบฏครั้งแรก จากนั้นในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ จะมีขบวนแห่ผ้าพระบฏจาก อ.ปากพนัง มามอบให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อทำพิธีเปิดงานประเพณีมาฆบูชา ณ บริเวณศาลาประดู่หก ก่อนจะเคลื่อนขบวนแห่ไปยังวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ทำการประกอบพิธีทางศาสนาถวายผ้าพระบฏนำขึ้นไปโอบห่มรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ต่อไป สำหรับผ้าพระบฏที่นำมาเย็บต่อกันด้วยความยาวของผ้า 1,250 เมตร เป็นการสื่อความหมายถึงพระอรหันต์ 1,250 รูป ที่เดินทางมาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย
นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า เพื่อให้สอดคล้องกับกิจกรรมและประเพณีดั้งเดิม รวมทั้งโครงการที่จังหวัดดำเนินการอยู่คือนครเมืองมงคล คนทำดี ดังนั้นกิจกรรมที่กำหนดในปีนี้จึงต้องเน้นให้สอดคล้องกับสิ่งที่เคยปฏิบัติในสมัยโบราณด้วย และต้องพัฒนาให้โดดเด่นก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น โดยกิจกรรมที่กระทำกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น การนำสินค้าในแต่ละท้องถิ่นมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน การร่วมพิธีกวนข้าวมธุปายาส และร่วมในพิธีแห่ผ้าขึ้นธาตุ รวมทั้งร่วมบริจาคทรัพย์สินเงินทองเป็นพุทธบูชาเพื่อบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระบรมธาตุเจดีย์ นอกจากนี้จะมีการแสดงของศิลปินพื้นบ้านเกี่ยวกับพุทธประวัติ การสวดพระพุทธมนต์หรือสวดพระปาติโมกข์ และในปีนี้จะมีการจับไปรษณียบัตรที่ประชาชนเขียนความตั้งใจจะทำความดีตามโครงการเมืองนครเมืองมงคล คนทำดี นับพันรางวัลด้วย
ดังนั้นประชาชนชาวพุทธทั้งหลายความเชื่อโบราณบ่งบอกเกี่ยวกับพระบรมธาตุเจดีย์ไว้ว่า เกิดมาทั้งที แม้ไม่ได้ร่วมสร้าง ขอให้ได้ร่วมซ่อม แต่หากไม่มีโอกาสร่วมทั้งสร้างและซ่อม ก็ขอให้ได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมแห่ผ้าขึ้นธาตุเมืองคอนสักครั้งก็ถือว่าเป็นบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ ไม่เสียทีเกิดมานับถือพุทธศาสนา โดยเชื่อกันว่าหากจะทำบุญหรือกราบไหว้บูชาให้ได้กุศลจริง ๆจะต้องปฏิบัติเฉพาะพระพักตร์พระองค์หรือใกล้ชิดพระพุทธองค์มากที่สุดเท่านั้น เมื่อพระพุทธองค์เสด็จเข้าสู่ปรินิพพานแล้วแต่ยังมีตัวแทนอยู่ เช่น เจดีย์ และพระพุทธรูป เป็นต้น การกราบไหว้บูชาสิ่งเหล่านี้ก็เสมือนว่าได้ทำบุญหรือกราบไหว้บูชาอย่างใกล้ชิด กับพระพุทธองค์เช่นเดียวกัน.
ไพฑูรย์ อินทศิลา /นครศรีธรรมราช
14 ม.ค. 2552